วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

>>>ปลาสลิด สัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย<<<

หากจะกล่าวถึงปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย มีด้วยกันหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ ซึ่งปลาเหล่านี้ปัจจุบันปริมาณความต้องการของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้รูปแบบการเลี้ยงปรับสู่ระบบพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่มีปลาอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลายเช่นกัน แต่รูปแบบการเลี้ยงที่พบเห็นโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบธรรมชาติ เช่นการเลี้ยงปลาสลิดโดยแหล่งผลิตปลาสลิดที่รู้จักกันดี คือ ปลาสลิดบางบ่อ สมุทรปราการ ซึ่งจัดว่ามีรสชาติดี เนื้ออร่อยลักษณะทั่วไปของปลาสลิด


ปลาสลิดหรือปลาใบไม้เป็นปลาน้ำจืด ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านของไทยมีแหล่งกำเนิ[คำไม่พึงประสงค์]ยู่ในที่ลุ่มภาคกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Trichogaster pecteralis นิยมเลี้ยงกันมากแถวภาคกลาง ส่วนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ เป็นพันธุ์ปลาที่ส่งไปจากเมืองไทยเมื่อประมาณ 80 -90 ปีที่ผ่านมา และเรียกว่าสยามหรือเซียม ปลาสลิดเป็นปลาที่เลี้ยงงาย อดทนต่อความเป็นกรดและน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อยได้ดี มีห่วงโซ่อาหารสั้น คือกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยนิยมเลี้ยงอยู่ในนาเรียกว่าชาวนาปลาสลิด
ปลาสลิดชอบอยู่ในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง ตามบริเวณที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักและสาหร่ายเพื่อใช้เป็นกำบังและก่อหวอดวางไข่ เนื่องจากปลาชนิดนี้โตเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอาหารพวกสาหร่าย พืชและสัตว์เล็ก ๆ จึงสามารถนำปลาสลิดมาเลี้ยงในบ่อและนาข้างได้เป็นอย่างดี
ปลาสลิดมีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่ขนาดโตกว่า ลำตัวแบน ข้างมีครีบท้องยาวครีบเดียว สีของลำตัวมีสีเขียวออกเทาหรือสีคล้ำเป็นพื้น มีริ้วดำพาดขวางตามลำตัว จากหัวถึงโคนหาง เกล็ดบนเส้นข้างตัวประมาณ 42-47 เกล็ดปากเล็กยืดหดได้ ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ 20 ซม.
การเพาะพันธุ์ปลาสลิดแบบธรรมชาติ
โดยธรรมชาติปลาสลิดสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่อมีอายุ 7 เดือน ขนาดโตเต็มวัยเฉลี่ยจะมีขนาดตัวประมาณ 6-7 นิ้ว น้ำหนัก 130-140 กรัม วางไข่ได้ครั้งละ 4,000 – 10,000 ฟอง เมื่อถึงฤดูวางไข่ท้องแม่ปลาจะอูมเบ่งออกมาทั้ง 2 ข้าง ลักษณะไข่ปลาสลิดมีสีเหลือง โดยในบ่อควรปลูกผักบุ้งรอบ ๆ ขอบบ่อ ปลาสลิดจะเข้าไปก่อหวอดวางไข่ ซึ่งลูกปลาวัยอ่อนสามารถเลี่ยงตัว หลบหลีกศัตรูตามบริเวณชานบ่อไป
การฟักไข่
ไข่ปลาสลิดเริ่มฟักเป็นตัวภายใน 24 ชม. และทยอยฟักเป็นตัวภายใน 48 ชม. ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเป็นราสีขาว ไม่ออกเป็นตัว ลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ จะไม่กินอาหารประมาณ 7 วัน เมื่อจะเริ่มกินอาหารลูกปลาจะขึ้นมาเหนือน้ำในตอนเช้าตรู่ สำหรับพันธุ์ปลาสลิดที่นิยมผลิตขายนั้นมี 2 พันธุ์ คือ ลายแตงไทยและลายเสือ โดยพันธุ์ที่ได้รับความนิยม คือ ลายแตงไทยเพราะโตกว่าลายเสือ ส่วนเพศ ต้องการเพศเมียมากกว่าเพศผู้ เพราะโตกว่าเช่นกัน ในการดูว่าปลาตัวไหนเพศเมียให้ดูที่ท้อง คือตัวเมียท้องจะยานส่วนตัวผู้ท้องจะยาว ปลาสลิดมีแนวโน้มด้านการตลาดในอนาคตแจ่มใส เพราะปลาสลิดเป็นผลผลิตที่ตลาดต้องการสูง สามารถนำมาประกอบอาหารทั้งรูปสดและทำเค็ม ตากแห้ง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้งเป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งเป็นสินค้าออกของประเทศอีกชนิดหนึ่ง โดยในปี 2538 มีผลผลิต 16,000 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 22,000 ตันในปี 2542 ซึ่งส่วนใหญ่ปลาสลิดจะมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าการบริโภคสด
การแปรรูปปลาสลิดที่นิยมโดยทั่วไปแบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. ปลาหอม หรือปลาจืด
2. ปลาน้ำหรือปลาเกลือ
ปลาสลิดที่แปรรูปเป็นปลาหอมหรือปลาจืด และปลาน้ำหรือปลาเกลือมีการกระจายผลผลิต โดยจะมีผู้ค้าส่งมารับถึงที่ ซึ่งมีทั้งผู้ค้าในท้องถิ่น ผู้ค้าส่งแถบต่างจังหวัด และผู้ค้าส่งจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีผู้บริโภคในท้องถิ่นมาซื้อถึงที่อีกด้วย หลังจากนั้นผู้ค้าส่งจึงส่งต่อไปให้ผู้ค้าปลีก เพื่อขายให้ผู้บริโภคต่อไป จะเห็นว่าปลาสลิดน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรรมนำมาประกอบเป็นอาชีพ เพราะเป็นปลาที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ง่าย อย่างประเทศของเราในปัจจุบันและยังเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง รวมถึงเรื่องของอาหารสำหรับปลาสลิด นับว่าเป็นการลดต้นทุนได้อีกวิธีหนึ่ง เพราะปลาสลิดจะกินพวกพืชเป็นอาหาร ดังนั้น หากมีพื้นที่ที่เหมาะสมและทำการปรับปรุงเพื่อการเลี้ยงปลาสลิด จะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนและเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัว เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น: